Fri. May 17th, 2024
พัฒนาการของเด็กทารกแต่ละช่วงวัยที่พ่อแม่ควรรู้

พัฒนาการของเด็กวัยทารก คือ การเจริญเติบโตที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆ ของเด็กวัยดังกล่าว ซึ่งเริ่มตั้งแต่หลังจากที่คลอดออกมาจนถึงอายุ 1 ปี โดยในแต่ละช่วงเวลาของการพัฒนาเด็กวัยทารกจะมีความแตกต่างกันในแต่ละคน และจะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นในทุกเดือน ซึ่งในการเจริญเติบโตและการพัฒนาของเด็กนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ประกอบด้วย 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ พัฒนาการด้านสติปัญญาและภาษา พัฒนาการด้านร่างกาย และพัฒนาการด้านสังคม และในวันนี้เราก็จะพาคุณตามไปทำความรู้จักพัฒนาการของเด็กวัยนี้กันให้มากขึ้นค่ะ

พัฒนาการของเด็กวัยทารก พร้อมวิธีการดูแลที่ถูกต้อง

แน่นอนว่าพัฒนาการของเด็กแต่ละวัยจะมีการเจริญเติบโตและมีวิธีการดูแลที่แตกต่างกัน ซึ่งเด็กวัยทารกตั้งแต่แรกคลอดจนถึง 1 ปี จะมีความเปลี่ยนแปลงในการเจริญเติบโตดังต่อไปนี้

1.ทารกวัยแรกเกิดถึง 3 เดือน

ทารกวัยแรกเกิดจนถึง 3 เดือน เป็นวัยที่เพิ่งออกมาเผชิญกับสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวอย่างมาก และต้องมีการพัฒนาการเจริญเติบโตในด้านต่างๆ ดังนี้

พัฒนาการด้านร่างกาย

พัฒนาการด้านร่างกายของเด็กในวัยนี้ จะสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้บางส่วน ไม่ว่าจะเป็น เริ่มชันคอได้ หันหน้าซ้ายขวาได้ สามารถคว่ำได้ หากใกล้ย่างเข้า 3 เดือน ทารกจะสามารถชันคอได้นานขึ้น และสามารถคว่ำได้เอง สามารถกระดิกมือ กำแบมือได้ สามารถเอื้อมมือไปจับสิ่งของ และกำสิ่งของไว้จนแน่น

พัฒนาการด้านสติปัญญาและภาษา

ในช่วงของวัยนี้ ทารกจากสามารถจดจำมารดาของตนเองได้ ชอบมอง ชอบสบตา และถ้าหากอายุครบ 2 เดือน จะนำเท้านำมือตัวเองมาเล่น หากอายุย่างเข้า 3 เดือน ทารกมักจะรับรู้ถึงเสียง และมีลักษณะการมองตาม พูดอ้อแอ้ได้

พัฒนาการด้านสังคม

ทารกในวัยนี้จะเริ่มจดจำใบหน้าของพ่อแม่ได้ บางครั้งอาจมีการเล่นน้ำลาย ชอบโผเข้ากอดพ่อแม่หรือผู้ที่เลี้ยงเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง

2.ทารกวัย 4-6 เดือน

ทารกในวัยนี้จะเริ่มรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงและสิ่งต่างๆ รอบตัว โดยจะสามารถทำบางอย่างได้ด้วยตนเองซึ่งจะมีพัฒนาการด้านการเจริญเติบโตดังนี้

พัฒนาการด้านร่างกาย

ขยับแขนขาได้อย่างมีแรงเพิ่มขึ้น สามารถนอนคว่ำ หงาย กลิ้ง และหยิบของเข้าปากได้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังสามารถถือของในลักษณะสลับมือเปลี่ยนไปมาได้ด้วยตนเอง หากย่างเข้าสู่ 6 เดือน จะเริ่มนั่งได้ด้วยตนเอง แต่จะนั่งได้ไม่งาน หรือต้องมีคนคอยพยุงด้านหลังไว้

พัฒนาการด้านสติปัญญาและภาษา

สามารถแยกแยะความแตกต่างของใบหน้าแต่ละคนได้ เริ่มมีความสนใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น สามารถหัวเราะเสียงดังและพูดอ้อแอ้ได้ชัดเจน และชอบที่จะพูดคุยกับบุคคลอื่น

พัฒนาการด้านสังคม

หากได้เล่นของเล่นที่ตนเองชอบจะมีความสนุกสนานยิ่งนัก และชอบล้อเลียนเสียงของบุคคลอื่น หากไม่เจอผู้ดูแลหรือพ่อแม่จะส่งเสียงร้องไห้

3.ทารกวัย 7-9 เดือน

ช่วงวัยนี้เป็นวัยที่มีการพัฒนาได้มากขึ้น สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตนเองได้มากขึ้น ซึ่งมีพัฒนาการดังนี้

พัฒนาการด้านร่างกาย

สามารถลุกนั่งได้เองโดยที่ไม่ล้ม และยังกลิ้งตัวได้ด้วยตนเองมากขึ้น ชอบในการปีนไปที่สูง และลุกขึ้นยืนได้เอง เริ่มคลาน และเริ่มหยิบของด้วย 2 นิ้ว รวมถึงสามารถตบมือได้เอง

พัฒนาการด้านสติปัญญาและภาษา

สามารถเรียนรู้ภาษาที่ผู้อื่นป้อนให้ รับฟังรู้เรื่อง สามารถแยกแยะอารมณ์ได้ พูดได้เป็นบางคำที่เป็นคำสั้นๆ เริ่มเรียนรู้การใช้สิ่งของ

พัฒนาการด้านสังคม

ชอบเล่นชอบสนุกเช่นเล่นจ๊ะเอ๋ เมื่ออยู่ห่างจากพ่อแม่จะชอบร้องไห้ หรือมีความรำคาญใจรู้สึกไม่ปลอดภัย สามารถรับรู้ถึงความรู้สึกที่พ่อแม่แสดงออกมา

4.ทารกวัย 10-12 เดือน

ในช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงสุดท้ายของวัยทารก ซึ่งจะมีพัฒนาการด้านการเจริญเติบโตได้อย่างชัดเจนดังนี้

พัฒนาการด้านร่างกาย

ในช่วงวัยนี้จะเริ่มลุกขึ้นยืนได้เอง และเริ่มก้าวที่จะเดิน อาจจะมีล้มบ้าง ชอบหยิบอาหารกินเอง ชอบปีนป่ายที่สูง และทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองได้มากขึ้น

พัฒนาการด้านสติปัญญาและภาษา

เริ่มพูดได้ชัดถ้อยชัดคำมากขึ้น และเริ่มพูดได้ 2-3 คำ เลียนแบบท่าทางของผู้ใหญ่ได้ สามารถรับรู้สิ่งต่างๆ ที่ผู้ใหญ่พูดหรือแสดงออกมา นอกจากนี้ ยังสามารถโบกมือ และสามารถเรียงของต่อกันได้

พัฒนาการด้านสังคม

สามารถแสดงออกว่าชอบไม่ชอบอาหารสิ่งใด ชอบลอกเลียนแบบท่าทางและถ้อยคำของผู้ใหญ่ เรียนรู้พฤติกรรมต่างๆ ได้ ว่าหากทำแล้วจะสามารถทำได้ผล เช่นร้องไห้ให้แม่มาหา

วิธีดูแลเด็กวัยทารกตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ปี

1.ต้องหมั่นคอยประคับประคองด้วยความบอบบาง คอยอยู่ใกล้ชิดและคอยเอาใจใส่อย่างมาก นอกจากนี้ คุณแม่ควรคอยสังเกตอาการผิดปกติของเด็กหากเกิดอาการไม่สบายตัวให้รีบหาสาเหตุที่เกิดขึ้น รวมถึงควรหมั่นพูดคุยกับทารกอยู่เสมอ

2.คอยเอาใจใส่อยู่ในความใกล้ชิด คอยพูดคุย และนำของเล่นสีสันสดใสมาให้ลูกเล่นเพื่อฝึกให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี รวมถึงฝึกให้เด็กเริ่มนั่ง และนอนคว่ำ อ่านหนังสือให้เด็กฟัง และหมั่นคอยสังเกตลูกอยู่เสมอ

3.ควรหมั่นสอนเด็ก และเล่าเรื่องต่างๆ ให้เด็กฟังอยู่เสมอ เพื่อให้เด็กได้ฝึกรับรู้ถึงพัฒนาการ รวมทั้งมีการเปิดเพลงดนตรีเสียงเบาๆ ที่ช่วยให้เด็กเกิดความผ่อนคลาย หมั่นสอนท่าทางที่เด็กจะสามารถทำได้ด้วยตนเองเช่น การโบกมือ การปรบมือ การชี้ และท่าทางการขอสิ่งของ เป็นต้น

นี่ก็คือ พัฒนาการของเด็กวัยทารกที่พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรรับรู้ สำหรับพัฒนาการและการเจริญเติบโตในด้านต่างๆ ของเด็ก เพื่อที่จะสอนให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัย และไม่มีความบกพร่องในเรื่องของการพัฒนาด้านต่างๆ นั่นเอง

By beauty